เรือของแคนาดามาขนขยะกลับจากฟิลิปปินส์
ต่างประเทศ
ทั้งนี้ ตลอดช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ของฟิลิปปินส์และลูกเรือเอ็ม/วี บาวาเรีย เร่งลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์บรรจุขยะขึ้นสู่เรือนั้น ยังคงมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชุมนุมประท้วงด้วยการถือแผ่นป้ายข้อความว่า "ฟิลิปปินส์ไม่ใช้ถังขยะของประเทศใด" และบางส่วนยังลงทุนล่องเรือตามเรือเอ็ม/วี บาวาเรีย ที่ออกจากท่าเรือไปแล้วอีกระยะหนึ่งด้วย นัยว่าเพื่อขับไล่เรือให้พ้นน่านน้ำของฟิลิปปินส์โดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ยังคงเหลือตู้คอนเนอร์บรรจุขยะของแคนาดาอีกเกือบครึ่งหนึ่งตกค้างอยู่ที่ฟิลิปปินส์ แต่หลายฝ่ายมองว่าอย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการที่รัฐบาลออตตาวา "ยอมแสดงความรับผิดชอบ" ต่อเรื่องนี้ โดยตู้คอนเทนเนอร์จากแคนาดา 103 ตู้ เดินทางกับเรือบรรทุกสินค้ามายังฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2556 ถึง 2557 ซึ่งมีการแสดงรายการว่าเป็น "ขยะพลาสติดที่รีไซเคิลได้" แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบอย่างละเอียดกลับพบว่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ขยะประเภทนั้น
แม้ทั้งสองประเทศพยายามเจรจากันมาตลอดแต่แทบไม่เคยมีความคืบหน้า โดยแคนาดาอ้างว่าตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้นเป็นของ "บริษัทเอกชน" จึงไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ สร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ซึ่งขีดเส้นตายให้อีกฝ่ายมาขนขยะกลับไป "ให้เร็วที่สุด" มิเช่นนั้นฟิลิปปินส์จะนำขยะกลับไปส่งคืนให้เอง และเตือนว่าหากรัฐบาลออตตาวาปฏิเสธยอมรับตู้คอนเทนเนอร์แม้เพียงตู้เดียว ให้ลูกเรือทิ้งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดลงในทะเล ภายในรัศมี 12 ไมล์ทะเล จากเส้นฐานชายฝั่งของแคนาดา ขณะเดียวกัน รัฐบาลมะนิลาเรียกเอกอัครราชทูตและกงสุลประจำแคนาดากลับประเทศ หลังแคนาดายังไม่ส่งเรือมาขนขยะตามที่ตกลงกันไว้ คือภายในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
ในเวลาเดียวกัน ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่าการที่ "ประเทศพัฒนาแล้ว" ลักลอบส่งขยะมาทิ้งยังประเทศที่ "กำลังพัฒนา" หรือ "มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า" เป็นการเอาเปรียบอย่างยิ่ง และควรหยุดพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมของมาเลเซียประกาศเตรียมส่งขยะในเบื้องต้น ปริมาณ 3,000 ตันกลับคืนต้นทางที่ส่วนใหญ่เป็น "ประเทศร่ำรวย".
เครดิตภาพ : AP