ข่าวครบ 1 ปีรัฐบาลมหาเธร์ ความหวังชาวมาเลย์เริ่มจาง - kachon.com

ครบ 1 ปีรัฐบาลมหาเธร์ ความหวังชาวมาเลย์เริ่มจาง
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ว่าผลสำรวจความคิดเห็นชาวมาเลเซียต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่เพียง 39% ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว หรือราว 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง ซึ่งแนวร่วม “ปากาตัน ฮาราปัน” หรือ “พันธมิตรแห่งความหวัง” ที่มีดร.มหาเธร์เป็นแกนนำ สร้างประวัติศาสตร์พลิกเอาชนะพรรคมลายูสามัคคีแห่งชาติ “อัมโน” ซึ่งเป็นแกนนำของพันธมิตร 13 พรรคในนาม  "แนวร่วมแห่งชาติ" ( บีเอ็น ) และผูกขาดการเป็นรัฐบาลนับตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2500
 

 
ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน คะแนนนิยมของชาวมาเลเซียเฉพาะต่อตัวดร.มหาเธร์ตกลงลดลงอย่างฮวบฮาบจาก 71% เหลือเพียง 46% แม้ผู้นำมาเลเซียวัย 93 ปี ยืนยันว่าเขาไม่เคยให้ความสำคัญหรือความสนใจกับผลสำรวจแบบนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตัวเลขที่ออกมาสามารถสะท้อนทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการทำงานของรัฐบาลที่ชาวมาเลเซียตั้งความหวังไว้สูงตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ยิ่งกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มองว่าคำมั่นสัญญาในช่วงหาเสียงนั้น “ยังไม่เกิดผลขึ้นจริง” ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายโทษประหารชีวิต ซึ่งในที่สุดรัฐบาลตัดสินใจคงบทลงโทษดังกล่าวไว้ก่อน แต่ยกให้เป็นดุลยพินิจของศาล โดยเฉพาะกับคดีอาญาอุกฉกรรจ์ และกฎหมายป้องกันการล้มล้างปลุกระดม ที่ยังไม่มีแนวโน้มของการแก้ไข “อย่างจริงจัง”

 


ทั้งนี้ รัฐบาลของดร.มหาเธร์มุ่งมั่นอย่างชัดเจนไปกับการดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กับบุคคลใกล้ชิด ซึ่งโยงใยกับคดีทุจริตในกองทุนพัฒนาแห่งชาติ  ( วันเอ็มดีบี ) โดยนายนาจิบถูกดำเนินคดีมากกว่า 40 กระทง แม้รัฐบาลสามารถยึดทรัพย์สินคืนมาได้ แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าของทรัพย์สินที่เสียไปและปริมาณหนี้สาธารณะที่พอกพูนสูงกว่า 1 ล้านล้านริงกิต ( เกือบ 8 ล้านล้านบาท ) นอกจากนี้ การยกเลิกนโยบายประชานิยมหลายอย่าง ส่งผลให้ภาครัฐต้องพยายามใช้วิธีอื่นในการหารายได้เข้ามาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นแผนขายกิจการมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ และการแก้ไขข้อตกลงโครงการก่อสร้างระบบรางรถไฟกับจีน “ให้ถูกลง” ในขณะที่การส่งออกของประเทศยังคงซบเซา หากภาครัฐยังคงหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ บวกกับปัจจัยตึงเตรียดภายนอกคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน บรรยากาศในมาเลเซียจะยิ่งซบเซากว่านี้ในทุกด้าน.

เครดิตภาพ : AFP