สภาสิงคโปร์ผ่านร่างกฎหมาย "จัดการข่าวปลอม"
ต่างประเทศ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายรวมถึงการที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการ "กำหนด" ให้เว็บไซต์หรือเพจข่าวออนไลน์ "เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง" และแก้ไขข้อมูลข่าวสารที่รัฐบาลพิจารณาแล้วพบว่า "ผิดหรือไม่เหมาะสม" ตลอดจนการที่ผู้ประกอบการเครือข่ายสังคมออนไลน์และบริษัทเทคโนโลยีต้องทำ "แถบข้อความเตือน" ไว้ใกล้กับข้อมุลข่าวสารที่รับบาลพิจารณาแล้วพบว่า "ไม่เหมาะสม" และประชาชนผู้รับสาร "ควรเพิ่มการใช้วิจารณญาณ" ในการพิจารณาเนื้อหา
นอกจากนี้ หากรัฐบาลพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดแล้วถือว่า "เป็นเท็จ" เว็บไซต์หรือเพจที่นำเสนอรายงานนั้นต้องลบข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบทันที ทั้งนี้ บทลงโทษจำคุกอยู่ที่นานสูงสุด 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ( ราว 23.35 ล้านบาท ) โดยบทลงโทษครอบคลุมการกระทำผิดที่เป็นการเปิดใช้บัญชีซึ่งเรียกว่า "บอต" เพื่อเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จด้วย
แม้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ใหญ่ที่สุดของโลกยังไม่แสดงท่าทีต่อกฎหมายดังกล่าวของสิงคโปร์ แต่ตัวแทนของบริษัทกูเกิ้ลในสิงคโปร์แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายด้านการพัฒนานวัตกรรมของประเทศในระยะยาว ส่วนฮิวแมน ไรตซ์ วอตช์ วิจารณ์ว่าจะยิ่งเป็นการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวสิงคโปร์ "ให้ยิ่งน้อยมากขึ้นไปอีก" และรัฐบาลอาจอาศัยกฎหมายนี้ในการจัดการกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง.
เครดิตภาพ : AFP