ข่าวจาก "เฮเซ"สู่"เรวะ" การเปลี่ยนผ่านบนความท้าทาย - kachon.com

จาก "เฮเซ"สู่"เรวะ" การเปลี่ยนผ่านบนความท้าทาย
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่าการเปลี่ยนแปลงรัชสมัยจาก “เฮเซ” สู่ “เรวะ” ไม่เพียงแต่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสถาบันสูงสุดของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นการถ่ายทอด “ความท้าทาย” จากรัชสมัยหนึ่งสู่อีกรัชสมัย ซึ่งจะเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีจะต้องเผชิญและฝ่าฟันร่วมกับพสกนิกร ไม่ว่าจะเป็นการที่ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ทศวรรษที่แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตเสด็จขึ้นครองราชย์ในสมัยที่ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรประมาณ 123 ล้านคน แต่ปัจจุบันจำนวนประชากรของประเทศอยู่ที่ 126 ล้านคน บ่งชี้อัตราการเกิดที่ต่ำมาก และมีแนวโน้มต่ำยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งที่รัฐบาลพยายามอย่างหนักในการเสนอสวัสดิการให้แก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นการสมรสและการมีบุตรเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร ให้ทันกับจำนวนประชากรอายุเกิน 65 ปีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 


 
ขณะเดียวกัน การเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางอิทธิพลของจีนที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งในทุกด้าน จริงอยู่ที่จีนและญี่ปุ่นมีความทรงจำสมัยประวัติศาสตร์ต่อกันที่ไม่ดีนัก แต่เมื่อมาถึงเรื่องการค้า ทั้งสองประเทศสามารถจับมือกันได้ “อย่างเป็นมิตร” เห็นได้ชัดจากการที่จีนสามารถแซงสหรัฐขึ้นมาเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นได้สำเร็จ โดยมูลค่าการค้าระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต เป็น 35 ล้านล้านเยน ( ราว 10 ล้านล้านเยน ) เทียบกับมูลค่าการค้าของสหรัฐซึ่งอยู่ที่ 24 ล้านล้านเยน ( ราว 6.8 ล้านล้านบาท )

 
สำหรับกิจกรรมใหญ่ระดับโลกงานแรกในรัชสมัยเรวะ นั่นคือการที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2563 และทุกภาคส่วนในญี่ปุ่นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมหกรรมกีฬาระดับโลกรายการนี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้เพิ่มเป็น 40 ล้านคนต่อปีภายในปีนั้น
 
นอกจากนี้ การที่สมเด็จพระจักรพรรดินีพระองค์ใหม่ทรงถือเป็นต้นแบบของความเป็น “ผู้หญิงทำงานยุคใหม่” ได้เป็นอย่างดี น่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในหลายแวดวงของสังคมญี่ปุ่นได้มากขึ้น โดยเฉพาะในทางการเมือง ที่ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ มีผู้หญิงเพียงคนเดียวเท่านั้น คือนางซัตสึกิ คาตายามะ รัฐมนตรีด้านการฟื้นฟูภูมิภาค ยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ และส่งเสริมศักยภาพสตรี.

เครดิตภาพ : AP,AFP