ข่าวจาก "เฮเซ"สู่"เรวะ" ญี่ปุ่นผลัดแผ่นดินครั้งสำคัญในรอบ 200 ปี - kachon.com

จาก "เฮเซ"สู่"เรวะ" ญี่ปุ่นผลัดแผ่นดินครั้งสำคัญในรอบ 200 ปี
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่าราชวงศ์ของญี่ปุ่นนั้นเป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดในโลก ชื่อว่าราชวงศ์ยามาโตะ มีพระราชลัญจกรหรือตราสัญลักษณ์เป็นดอกเบญจมาศ รัชสมัยปัจจุบันคือ “เฮเซ” ที่หมายถึง “การบรรลุสู่สันติภาพ” ซึ่งจะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในรัชสมัยเฮเซที่ 31 เมื่อหมดวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกร นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2532 ด้วยพระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบ 2 ศตวรรษของญี่ปุ่น ซึ่งทรงสละราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่หรือมกุฎราชกุมาร นับตั้งแต่สมเด็จพระจักรพรรดิโคกะกุ ในรัชสมัยเอโดะ เมื่อปี 2360
 

 
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนส.ค. 2559 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตพระราชทานกระแสพระราชดำรัสผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ โดยที่พระองค์ไม่ได้ตรัสโดยตรงแม้เพียงคำเดียวว่าทรงมีพระราชประสงค์สละราชสมบัติ แต่การตรัสแสดงความกังวลพระทัยเกี่ยวกับพระพลานามัยและพระชนมพรรษาที่มากขึ้น จึงทรงหวั่นเกรงว่าจะทรงไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรได้อย่างเต็มที่ และสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตทรงขอให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ “ช่วยพิจารณา” พระราชดำรัสของพระองค์ ซึ่งทุกฝ่ายแปลความไปในทางเดียวกันได้ทันที ว่าหมายความถึงพระราชประสงค์ของสมเด็จพระจักรพรรดิในการทรงสละราชสมบัติให้แก่องค์รัชทายาท

 
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่กฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นยังคงมีข้อจำกัดที่กำหนดให้การสืบทอดราชบัลลังก์เกิดขึ้นได้เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคตเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากประชาชน รัฐสภาของญี่ปุ่นผ่านร่างกฎหมายฉบับพิเศษแบบใช้ครั้งเดียวฉบับแรกในรอบ 200 ปี เมื่อเดือนมิ.ย. 2560 เตรียมจัดการพระราชพิธีสละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ซึ่งทรงต้องการรักษาบทบาทของสถาบันให้คงอยู่อย่างร่มเย็นและสามารถเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้แก่พสกนิกร และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากจนเกินไปดังเช่นในรัชสมัยโชวะของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต พระราชบิดาของพระองค์ ซึ่งทรงมีบทบาทอย่างมากด้วยพระองค์เองในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
 

 
ขณะเดียวกัน สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตทรงมีความเป็น “นักปฏิรูป” พระองค์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกซึ่งทรงอภิเษกสมรสกับหญิงสามัญชน โดยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงมีพระนามเดิมว่าน.ส.มิชิโกะ โชดะ นอกจากนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตยังทรงมีรับสั่งว่าเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์เรื่องการรับพระราชทานเพลิง มากกว่าทรงฝังพระบรมศพที่สุสานหลวงที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานาน

สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตเสด็จฯไปทรงเคารพสุสานหลวงของอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต พระราชบิดา ที่เมืองฮาจิโอจิ ทางตะวันตกของกรุงโตเกียว
 
เมื่อล่วงเข้าสู่วันที่ 1 พ.ค. ญี่ปุ่นจะเข้ารัชสมัยใหม่ชื่อ “เรวะ” ที่ความหมายโดยรวมสื่อถึงความสงบ ความเป็นระเบียบ ความสามัคคี และความปรองดองอันดีงาม โดยองค์รัชทายาทหรือมกุฎราชกุมารคือเจ้าชายนารุฮิโตะจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ที่ 126 ขณะที่พระวรชายาคือเจ้าหญิงมาซาโกะ มกุฎราชกุมารี จะเสด็จขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี โดยพระราชพิธีจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที และขั้นตอนการทรงรับการขึ้นทรงราชย์จำกัดผู้ที่อยู่ในพระราชพิธีเฉพาะผู้ชายเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกราชวงศ์ มหาดเล็กและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ซึ่งตลอดพิธีการจะต้องเงียบสงบ ห้ามผู้ใดเปล่งวางจาแม้แต่คำเดียว โดยเจ้าชายนารุฮิโตะจะทรงรับการทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ 3 ชิ้นจากเจ้าพนักงาน ได้แก่พระแสงขรรค์ชัยศรี พระฉายหรือกระจก และสายสร้อยพระสังวาลย์ประดับเนาวรัตน์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว พระองค์จะเสด็จออกเพื่อทรงรับการถวายพระพรจากคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งจะพระราชทานกระแสพระราชดำรัสครั้งแรกอย่างเป็นทางการในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นในวันที่ 22 ต.ค.ปีเดียวกัน

ส่วนกำหนดการเบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชพิธีสถาปนาองค์รัชทายาทในเบื้องต้นกำหนดไว้ในปีหน้า ซึ่งแน่นอนคือเจ้าชายฟุมิฮิโตะ เจ้าอะกิชิโนะ พระอนุชาในเจ้าชายนารุฮิโตะ แม้เคยมีกระแสเกี่ยวกับการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเรื่องการสืบทอดราชสมบัติให้แก่รัชทายาทซึ่งเป็นหญิง โดยเจ้าชายนารุฮิโตะและเจ้าหญิงมาซาโกะมีพระธิดาร่วมกันพระองค์เดียว คือเจ้าหญิงไอโกะ พระชันษา 17 ปี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นแทบทุกสมัยมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูงในเรื่องธรรมเนียมโบราณ
 


ทั้งนี้ ภายหลังการเปลี่ยนรัชสมัย สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะจะทรงดำรงสถานะ สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวงและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวงตามลำดับ ทั้งสองพระองค์จะทรงงาน “เป็นการส่วนพระองค์” ที่จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวังอีก แม้พระราชพิธีขึ้นทรงราชย์และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ซึ่งทั้งสองพระองค์จะไม่ทรงเข้าร่วม โดยหลังสิ้นสุดรัชสมัยเฮเซอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวงและสมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวงจะทรงย้ายที่ประทับไปยังกระตำหนักอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะยังคงอยู่ภายในอาณาเขตของพระราชวังอิมพีเรียล ก่อนทรงย้ายออกอีกครั้งไปยังพระตำหนักที่อยู่นอกรั้วพระราชวัง.

เครดิตภาพ : AFP,AP