ข่าว"ปูติน-คิม" หารือกระชับสัมพันธ์ที่เมืองวลาดีวอสตอค - kachon.com

"ปูติน-คิม" หารือกระชับสัมพันธ์ที่เมืองวลาดีวอสตอค
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองวลาดีวอสตอค ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ให้การต้อนรับนายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่ศูนย์การประชุมของมหาวิทยาลัยฟาร์ อีสเทิร์น ในเมืองวลาดีวสอตอค ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นการพบหารือกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทั้งคู่ ขณะเดียวกันยังถือเป็นการเยือนรัสเซียเป็นครั้งแรกของนายคิม จอง-อึน และตามรอยบิดาผู้ล่วงลับคือนายคิม จอง-อิล อดีตผู้นำสูงสุด ซึ่งเดินทางด้วยขบวนรถไฟข้ามพรมแดนมายังเมืองวลาดีวอสตอคเพื่อพบหารือกับปูติน  2 ครั้ง เมื่อปี 2545 และ 2554
 


ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยืนรอรับนายคิม จอง-อึน ที่หน้าทางเข้าศูนย์การประชุมของมหาวิทยาลัยฟาร์ อีสเทิร์น

ทั้งนี้ ผู้นำรัสเซียกล่าวถึงการเยือนเมืองวลาดีวอสตอคของนายคิมในครั้งนี้ ว่าน่าจะช่วยให้ "ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี สามารถเข้าใจทิศทางและความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์การเมืองในบริเวณนี้ได้ดียิ่งขึ้น และรัฐบาลมอสโกมีความพร้อมให้ความสนับสนุนต่อกระบวนการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการเกิดสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ขณะเดียวกัน รัสเซียมีความยินดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลีที่มีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง และการที่ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือพบหารือกับผู้นำสหรัฐคนปัจจุบันคือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง

ขณะที่ผู้นำหนุ่มของเกาหลีเหนือซึ่งเดินทางมาถึงเมื่อวันพุธ กล่าวแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาลเปียงยาง ต่อการที่ปูตินได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว และจะอยู่ในวาระอีก 6 ปี และแสดงความเชื่อมั่นว่าการเยือนเมืองวลาดีวอสตอคของเขาจะเป็นการพบหารืออย่างสร้างสรรค์กับผู้นำรัสเซียและบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลมอสโก อีกทั้งจะเป็นการประชุมที่ "ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์" แต่ไม่ได้กล่าวลงลึงในรายละเอียด
 


อนึ่ง การเยือนเมืองวลาดีวอสตอคของนายคิมเกิดขึ้นราว 2 เดือนหลังการประชุมครั้งที่ 2 กับทรัมป์ ที่กรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เมื่อปลายเดือนก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมที่จบแบบ "เหนือความคาดหมาย" ของหลายฝ่าย นั่นคือการยุติก่อนกำหนดการและไม่มีการลงนามในข้อตกลงใด หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายต่างสาดโคลนกันว่าเป็นต้นเหตุทำให้การประชุมครั้งนี้ "ล้มเหลว" จากการไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในเรื่อง "การปลดนิวเคลียร์" และ "การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร".
    
เครดิตภาพ : AP