ข่าวอียิปต์ออกเสียง "ท่วมท้น" เพิ่มเวลาดำรงตำแหน่งให้ผู้นำ - kachon.com

อียิปต์ออกเสียง "ท่วมท้น" เพิ่มเวลาดำรงตำแหน่งให้ผู้นำ
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ว่าคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งแห่งชาติของอียิปต์ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคาร เป็นการประกาศผลการลงประชามติซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 20 ถึง 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งคำถามสำคัญกฎหมายแก้ไขมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 ว่าด้วยการขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจาก 4 ปีเป็น 6 ปี ว่าจากจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 44.33% นั้น 88.33% คิดเป็น 23.4 ล้านคน จากจนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประมาณ 61 ล้านคน สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ส่วนอีก 11.17% ไม่เห็นด้วย หมายความว่านับจากนี้การเปลี่ยนแปลงถือว่ามีผลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้รับการรับรองแล้วจากชาวอียิปต์ ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ( คนขวาสุด ) สนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองอียิปต์ ที่ทำเนียบในกรุงไคโร

นอกเหนือจากการ "เซ็ตซีโร่" หรือ "การล้างไพ่" ปูทางให้ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี อดีตนายพลวัย 64 ปี ซึ่งขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือนมิ.ย. 2557 จากการเลือกตั้งที่จัดขึ้นหลังซิซีนำกองทัพโค่นอำนาจประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี และการกวาดล้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิมซึ่งให้การสนับสนุนมอร์ซี ขยายระยะเวลาให้อยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปี 2573 คำถามอื่นยังรวมถึงการเพิ่มสัดส่วนสมาชิกหญิงในสภาให้ไม่ต่ำกว่า 2 สภาอย่างชัดเจน คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ปัจจุบันอียิปต์ใช้ระบบสภาเดียว มีจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น 596 ที่นั่ง การมอบอำนาจการตัดสินใจ "ที่เป็นสิทธิ์ขาด" ให้แก่ประธานาธิบดี ในการแต่งตั้งคณะตุลาการศาลฎีกาและอัยการสูงสุด และการระบุให้กองทัพอียิปต์เป็น "สถาบันซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและระบบประชาธิปไตย"
 


 
ทั้งนี้ คำถามของการหยั่งเสียงยิ่งเพิ่มวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศว่า อียิปต์กำลังจะกลับมาอยู่ภายใต้ระบอบ "เผด็จการอำนาจนิยม" ซึ่งอำนาจบริหารทั้งหมดอยู่ภายใต้การตัดสินใจของมีบุคคลเดียวหรือไม่ อนึ่ง ซิซีชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อปีที่แล้ว ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน "ถล่มทลาย" มากถึง 97% แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นเพราะคู่แข่งที่มีเพียงคนเดียวและเป็นเพียง "ไม้ประดับ" มากกว่า คือนายมุสซา มุสตาฟา มุสซา เคยทำหน้าที่ประธานแคมเปญหาเสียงให้กับซิซีมาก่อน และลงสมัครในช่วงกวลาที่แทบเป็นนาทีสุดท้าย หลังผู้สมัครคนอื่นถูกจับกุมใน "คดีอาญาทางการเมือง" หรือ "ถูกกดดัน" จนต้องถอนตัวออกไปเอง.

เครดิตภาพ : AP,AFP