ผู้เสียชีวิตจากเหตุก่อการร้ายที่ศรีลังกาพุ่งเกิน 300 คน
ต่างประเทศ
ด้านคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ครอบคลุมทั่วทั้งศรีลังกาตั้งช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ( 01.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ ในการตรวจค้น จับกุมและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยโดยไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากศาล และคำสั่งเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนซึ่งรัฐบาลรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่มีผลติดต่อกันเป็นคืนที่ 2 แล้ว
ขณะที่สถานที่ราชการทุกแห่งในศรีลังกายังคงลดธงชาติลงครึ่งเสา และประชาชนทั่วประเทศร่วมกันยืนสงบนิ่งและจุดทียนเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่ไปรวมตัวกันที่โบสถ์เซนต์ แอนโธนี ซึ่งเป็นจุดแรกเกิดระเบิด และเจ้าหน้าที่พยายามเก็บกู้วัตถุระเบิดที่โบสถ์แห่งนี้ ที่มีผู้นำมาวางทิ้งไว้อีกครั้งวันจันทร์ด้วย ซึ่งปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ส่งผลให้เกิดเสียงดังสนั่นและกลุ่มควันคละคลุ้ง แต่โชคดีไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ
ตอนนี้ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศพุ่งความสนใจไปที่ประเด็น "การประสานงาน" ระหว่างรัฐบาลกับหน่วยข่าวกรองของศรีลังกา ว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งนี้หรือไม่ หลังมีรายงานว่าหน่วยข่าวกรองของศรีลังกาส่งรายงานไปยังกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกลุ่มเตาฮีธ จามาอัธแห่งชาติ ( เอ็นทีเจ ) และกระทรวงกลาโหมส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกระจายข่าวต่อให้กับหน่วยงานย่อยในสังกัดเมื่อวันที่ 11 เม.ย. โดยข้อมูลที่มีการแจ้งเตือนกันเป็นการภายในรวมถึงเบาะแสจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐและอินเดีย เกี่ยวกับ "ความเป็นไปได้" ในการก่อวินาศกรรมของเอ็นทีเจ และรายชื่อบุคคลต้องสงสัยเป็นสมาชิกของกลุ่มด้วย
แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา ทราบข้อมูลเรื่องนี้มากเพียงใด ด้านนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห กล่าวว่าคณะรัฐบาลไม่เคยได้รับรายงานเรื่องนี้ ซึ่งหากเป็นความจริงถือเป็น "ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่" ของระบบหน่วยข่าวกรองศรีลังกา ในเวลาเดียวกัน องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ( อินเตอร์โพล ) หรือตำรวจสากล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลียงของฝรั่งเศส และสำนักงานสอบสวนกลาง ( เอฟบีไอ ) ของสหรัฐ ส่งทีมงานเดินทางไปช่วยเหลือศรีลังกาในการสืบสวนสอบสวนด้วย ซึ่งจำนวนผู้มที่ถูกจับกุมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 40 คนแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใครบ้าง
อย่างไรก็ตาม เอ็นทีเจยังไม่เคยออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ ซึ่งมีความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ผ่านพ้นยุคสงครามกลางเมืองกับกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ซึ่งการสู้รบยาวนานระหว่างปี 2526 ถึง 2552 และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คน ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ประกาศเปิดให้บริการ "อย่างจำกัด" และย้ำเตือนชาวไทยซึ่งต้องการเดินทางเข้าหรือออกจากศรีลังกาเตรียมเอกสารให้พร้อม เนื่องจากจะต้องพบกับมาตรการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะเข้มงวดมากกว่าปกติ.
เครดิตภาพ ; AFP,AP,REUTERS