ข่าวคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ทั่วศรีลังกา - kachon.com

คำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ทั่วศรีลังกา
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ว่าคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ครอบคลุมทั่วทั้งศรีลังกาตั้งช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น ( 01.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ ในการตรวจค้น จับกุมและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยโดยไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติจากศาล ขณะที่คำสั่งเคอร์ฟิวในเวลากลางคืนซึ่งรัฐบาลรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่มีผลติดต่อกันเป็นคืนที่ 2 แล้ว






ตอนนี้ทุกฝ่ายทั้งในและต่างประเทศพุ่งความสนใจไปที่ประเด็น "การประสานงาน" ระหว่างรัฐบาลกับหน่วยข่าวกรองของศรีลังกา ว่าอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดเหตุวินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ผ่านพ้นยุคสงครามกลางเมืองกับกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ซึ่งการสู้รบยาวนานระหว่างปี 2526 ถึง 2552 และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 100,000 คนหรือไม่ หลังมีรายงานว่าหน่วยข่าวกรองของศรีลังกาส่งรายงานไปยังกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกลุ่มเตาฮีธ จามาอัธแห่งชาติ ( เอ็นทีเจ ) และกระทรวงกลาโหมส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งกระจายข่าวต่อให้กับหน่วยงานย่อยในสังกัดเมื่อวันที่ 11 เม.ย. โดยข้อมูลที่มีการแจ้งเตือนกันเป็นการภายในรวมถึงเบาะแสจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐและอินเดีย เกี่ยวกับ "ความเป็นไปได้" ในการก่อวินาศกรรมของเอ็นทีเจ และรายชื่อบุคคลต้องสงสัยเป็นสมาชิกของกลุ่มด้วย


อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา ทราบข้อมูลเรื่องนี้มากเพียงใด ด้านนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห กล่าวว่าคณะรัฐบาลไม่เคยได้รับรายงานเรื่องนี้ ซึ่งหากเป็นความจริงถือเป็น "ความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่" ของระบบหน่วยข่าวกรองศรีลังกา


แม้เอ็นทีเจยังไม่เคยออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับเหตุวินาศกรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการระเบิดโบสถ์ 3 แห่ง โรงแรมหรู 3 แห่ง ระเบิดใกล้สวนสัตว์แห่งชาติ และระเบิดที่บ้านพักซึ่งเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นพอดี คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ 3 นาย แต่พนักงานสอบสวนยืนยันแล้วว่าเอ็นทีเจอยู่เบื้องหลัง และอาจได้รับ "ความสนับสนุนจากต่างชาติ" ขณะที่บรรยากาศในกรุงโคลัมโบยังปกคลุมไปด้วยความตึงเครียดและความหวาดกลัว เมื่อหน่วยตรวจสอบและเก็บกู้วัตถุระเบิด ( อีโอดี ) ปลดชนวนระเบิด 87 ลูก เฉพาะที่สถานีขนส่งโคลัมโบ และความพยายามเก็บกู้วัตถุระเบิดที่โบสถ์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายครั้งแรกด้วย แม้มีเสียงดังสั่นแต่เคราะห์ดีไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ

กลุ่มควันที่เกิดขึ้นจากความพยายามเก็บกู้ระเบิดของหน่วยอีโอดี ที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ในกรุงโคลัมโบ
 



สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุวินาศกรรมครั้งนี้อยู่ที่อย่างน้อบ 290 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติประมาณ 30 คน จากอย่างน้อย 12 ประเทศ รวมถึงสหรัฐ สหราชอาณาจักร จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ออสเตรเลีย และสเปน อีกทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 500 คน ส่วนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ประกาศเปิดให้บริการ "อย่างจำกัด" ในวันอังคารที่ 23 เม.ย. นี้.

เครดิตภาพ : AP,AFP