ข่าวกกต.อินเดียกับ "ภารกิจทรหด" เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สิทธิ์ - kachon.com

กกต.อินเดียกับ "ภารกิจทรหด" เพื่อให้ทุกคนได้ใช้สิทธิ์
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่เกิดขึ้นทุก 5 ปีนั้นได้รับการขนานนามจากทุกฝ่ายว่าเป็นการเลือกตั้ง "ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก" ทุกครั้ง โดยจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 900 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 1,300 ล้านคน และจากจำนวนดังกล่าว 83 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก นั่นคือต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติจัดเตรียมคูหาเลือกตั้งไว้ 1 ล้านแห่งทั่วประเทศ และเครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบ 4 ล้านเครื่อง นอกจากนี้ รับบาลยังจัดเตรียมขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษเหมาทั้งขบวนอีก 570 ขบวน สำหรับทหาร ตำรวจ และผู้ใช้แรงงานซึ่งนายจ้างจัดให้เดินทางมาลงคะแนนพร้อมกัน
 


 
อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจของการเลือกตั้งอินเดียที่หลายฝ่ายอาจมองข้าม คือการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดกฎว่า ระยะห่างระหว่างหน่วยเลือกตั้งกับสถานที่พักอาศัยของผู้ใช้สิทธิ์ไม่ควรเกินกว่า 2 กิโลเมตร  ไม่ว่าผู้มีสิทธิ์ออกเสียงจะอาศัยอยู่ในเขตใจกลางเมือง ริมชายฝั่งอ่าวเบงกอล หรือแม้แต่บนเทือกเขาหิมาลัย ส่งผลให้บรรดาเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งของอินเดียต้องปฏิบัติหน้าที่ "ทรหด" กว่าเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งของอีกหลายประเทศ นั่นคือการเดินทางเข้าป่า ข้ามแม่น้ำ หรือแม้แต่ปีนภูเขา เพื่อไปตั้งคูหาให้ประชาชนทุกคนได้มีโอกาสใช้สิทธิ์ มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปตั้งหน่วยลงคะแนนภายในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติเคอร์ ในรัฐคุชราตที่อยู่ทางตะวันตก เพื่อรับคะแนนจากผู้มีสิทธิ์เพียงคนเดียว


 
ขณะที่ในภูมิภาคลาดักห์ ซึ่งเป็นดินแดนแคชเมียร์ในเขตอธิปไตยของอินเดีย เจ้าหน้าที่ได้รับความช่วยเลหือจากทหาร ในการขึ้นไปตั้งคูหาเลือกตั้งที่ระดับความสูง 4,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 12 คนได้ลงคะแนน

 
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียในครั้งนี้ยังคงเป็นแบบ "มาราธอน" ที่มีการแบ่งเป็น 7 ขั้น ตามภูมิภาค โดยรัฐกลุ่มแรกใช้สิทธิ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ส่วนรัฐกลุ่มที่ 2 มีกำหนดหย่อนบัตรในวันที่ 18 เม.ย. นี้ ตามด้วย 23 เม.ย. 29 เม.ย. 6 พ.ค. 12 พ.ค. และ 19 พ.ค. โดยจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกชุดใหม่ทั้ง 543 ที่นั่งของโลกสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร และการนับคะแนนจะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 พ.ค. นี้.

เครดิตภาพ : AP