ข่าวรมว.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐลาออก - kachon.com

รมว.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐลาออก
ต่างประเทศ

photodune-2043745-college-student-s
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ ว่าน.ส.เคิร์สต์เจน นีลเซน ได้ลาออกจากตำแหน่งรมว.กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และขอบคุณการปฏิบัติหน้าที่ของอีกฝ่ายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พร้อมทั้งประกาศแต่งตั้งนายเควิน แมคอลีแนน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรและป้องกันพรมแดน ( ซีบีพี ) ให้ทำหน้าที่รักษาการในตำแหน่งของนีลเซนไปก่อน จนกว่าวุฒิสภาจะอนุมัติผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่
 

 
ขณะที่นีลเซน วัย 46 ปี ซึ่งรับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อเดือนธ.ค. 2560 เผยแพร่แถลงการณ์ของเธอเองที่มีสาระสำคัญในตอนหนึ่งว่า แม้นโยบายปฏิรูปความมั่นคงภายในและพรมแดน "คืบหน้าไปมาก" แต่ "ถึงเวลาอันสมควรแล้ว" ที่เธอควรพ้นจากตำแหน่ง

จากซ้ายไปขวา : ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ น.ส.เคิร์สต์เจน นีลเซน และนายเควิน แมคอลีแนน

ทั้งนี้ การลาออกของนีลเซนเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังเธอติดตามทรัมป์ลงพื้นที่พรมแดนทางใต้ซึ่งติดกับเม็กซิโก และผู้นำสหรัฐถึงคาราวานผู้อพยพซึ่งยังคงเดินทางมาปักหลักรออยู่อีกฝั่งหนึ่งของชายแดนว่า "ประเทศของเราพื้นที่เต็มแล้ว" ก่อนกล่าวถึงมาตรการปิดพรมแดนกับเม็กซิโกว่า "เขาเปลี่ยนใจ" แต่จะใช้วิธีการตั้งกำแพงภาษีกับอีกฝ่ายแทน หากเม็กซิโก "ยังไม่มีความจริงจังอย่างเพียงพอ" ในการจัดการเรื่องดังกล่าว
 


อย่างไรก็ตาม การกลับลำของทรัมป์เรื่องการปิดพรมแดนกับเม็กซิโกเกิดขึ้นหลังหอการค้าสหรัฐซึ่งทั้งเป็นล็อบบี้ยิสต์ด้านธุรกิจรายใหญ่ที่สุดของประเทศด้วย เตือนว่าการปิดพรมแดนทางทางใต้ระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโกจะก่อให้เกิด "ผลกระทบเชิงลบอย่างร้ายแรง" ต่อ "การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน"  ด้านนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ แกนนำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา กล่าวว่าการปิดพรมแดนมีแต่จะสร้างผลเสียทางเศรษฐกิจให้แก่สหรัฐ และในฐานะหนึ่งในแกนนำของสภาคองเกรสหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรณีดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นจริง
 

อนึ่ง จดหมายลาออกของนีลเซนถือว่า "แตกต่าง" จากการลาออกจากของอดีตรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวหลายคนที่มักระบุถึง "ความขัดแย้ง" กับผู้นำสหรัฐว่าเป็นต้นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่นายเบนนี ทฮมป์สัน ประธานคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่าการลาออกของนีลเซนถือเป็น "จุดเริ่มต้นของหายนะ" ด้านนโยบายความมั่นคงพรมแดน และมองว่านีลเซนคือ "แพะรับบาป" แทนทรัมป์ โดยเฉพาะมาตรการ "พรากผู้อพยพเด็ก" ออกจากผู้ปกครอง เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเรียกเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ และรัฐบาลวอชิงตันชี้แจงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี ในการระบุตัวตนของผู้อพยพเด็ก "หลายพันคน" ซึ่งยังไม่มีการส่งคืนให้กับผู้ปกครอง.

เครดิตภาพ : AP,REUTERS